เขียนบทความอาหาร Food Blogger

ถ้าชอบทำอาหารกินเอง ทำอาหารให้คนอื่นกิน หรือชอบกินอาหาร และชอบเขียนด้วย food blogger คือเส้นทางที่คุณควรเลือกค่ะ เป็นเส้นทางที่คุณทำอย่างมีความสุข และมีรายได้

ถ้าคุณชอบทำอาหาร เขียนเล่าเรื่องเกี่ยวกับอาหารที่คุณทำ บอกเทคนิควิธีการทำ บอกขั้นตอนการทำ บอกในสิ่งที่คุณอยากบอก สิ่งที่คุณอยากให้ประโยชน์แก่คนอื่น และสิ่งนั้นมาจากภายในตัวคุณจริง ๆ มาจากประสบการณ์ที่ทำจริง ผู้คนจะสัมผัสได้ว่าคุณเป็นตัวจริงหรือเฟก ส่วนเทคนิคการเล่าเรื่องนั้น ไม่ต้องซีเรียส ขอให้เล่าเรื่องจากใจ เล่าเรื่องเหมือนเล่าให้เพื่อนฟัง ใช้ถ้อยคำของคุณเอง ไม่ต้องประดิดประดอยคำพูดให้สวยหรู ขอให้ใช้คำพูดที่สุภาพก็พอ

ภาพประกอบจาก Pexels.com

ถ้าคุณชอบกินอาหาร เขียนเล่าเรื่องประสบการณ์กินอาหารในที่ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ทำให้กิน เพื่อนทำให้กิน หรือกินที่ร้านอาหาร ร้านเล็ก ร้านใหญ่ ร้านในซอยลึก ร้านริมทาง ร้านแผงลอย ร้านในตลาดสด นำมาเขียนเล่าเรื่องได้หมด จงเล่าเรื่องตามประสบการณ์จริง เล่าเรื่องตามความคิดเห็นของคุณ

อย่าลืมถ่ายรูปอาหาร จัดแสงและมุมมองให้สวยงาม ถ่ายรูปอาหารบ่อย ๆ เดี๋ยวก็ถ่ายรูปสวยไปเอง ไม่ต้องกังวล

องค์ประกอบของบทความ

  • เนื้อหา อย่างน้อยควรมี 3 ย่อหน้า
  • ความยาว 1 หน้า A4 กำลังเหมาะ ประมาณ 2500 – 3000 ตัวอักษร
  • รูปภาพประกอบควรถ่ายเอง หรือนำมาจากเว็บไซต์แจกรูปฟรี หรือซื้อรูปภาพมาใช้ ควรเก็บหลักฐานการซื้อไว้ด้วย
  • ไม่คัดลอกเนื้อหาส่วนหนึ่งส่วนใดมาจากที่อื่น

เมื่อได้บทความอาหารเรียบร้อยแล้ว ได้เวลาปล่อยของ food blogger ดาวจรัสแสงรออยู่ แหล่งปล่อยของที่แรก สร้างบล็อกเอง เช่น blogger.com, bloggang.com, WordPress.com, weebly.com, wix.com เขียนในพื้นที่ของคนอื่นแต่เป็นแหล่งชุมชน เช่น เขียนกระทู้ในพันทิป เขียนที่ Blockdit เขียนที่ minimore.com เขียนที่ readAwrite เขียนที่ trueId in-trend

การสร้างบล็อกเอง เหมือนปลูกต้นไม้ยืนต้น ใช้เวลานานสักหน่อยกว่าจะมีคนเห็น มีคนรู้จัก กว่าจะมีรายได้ ขึ้นอยู่กับการลงมือทำ ถ้าทำมาก ทำสม่ำเสมอ ก็เห็นผลเร็ว ถ้าทำบ้างไม่ทำบ้าง หรือทำวันนึงเว้นไปสามเดือนหรือสามปี อันนี้คงไม่ต้องบอกผลลัพธ์ว่าจะออกมาอย่างไร รายได้จากการเขียนบล็อกมาจากค่าโฆษณา ค่าเขียนรีวิว ค่าขายสินค้า

การเขียนบทความอาหารในพื้นที่ของคนอื่น เช่น กระทู้ในพันทิป ข้อดีพันทิปเป็นแหล่งชมชน มีคนอ่านเยอะ มีคนติชมเยอะ เราจะมีกำลังใจที่เขียนแล้วมีคนอ่าน และมีคอมเมนท์เตเตอร์อิสระที่อาสาสมัครทำหน้าที่ติชม เราจะได้รับประสบการณ์จริง เปิดใจรับคำติให้ได้ก็แล้วกัน ข้อเสีย คือ มีกฎเกณฑ์การเขียนที่ต้องระวัง ถ้าไม่ทำผิดกฎระเบียบ กติกา มารยาท ก็ไม่มีปัญหาอะไร รายได้จากกระทู้พันทิป บทความอาหารของเราอาจจะเตะตาแมวมอง จนเขาชวนไปเขียนบทความให้แก่องค์กรหรือบริษัท ห้างร้านต่าง ๆ หรือร้านอาหารเชิญไปเขียนรีวิวร้านอาหาร เราก็ได้รับค่าจ้าง

ภาพประกอบจาก pexels.com

การเขียนบทความอาหารในพื้นที่ของคนอื่น เช่น Blockdit ถ้ามีคนติดตามอ่านบทความของเรา 1000 คนขึ้นไป จะได้รับส่วนแบ่งค่าโฆษณา minimore ถ้ามีคนติดตามอ่านเยอะ จะได้รวมเล่มทำหนังสือหรือ e-book ได้ส่วนแบ่งค่าขายหนังสือ readAwrite เปิดขายบทความเป็นตอน ๆ หรือเปิดรับบริจาคจากคนอ่าน (Donation) นอกนั้นยังรวมเล่มขายเป็น e-book หรือหนังสือ print on demand ก็ได้ มีระบบสนับสนุนนักเขียนอิสระจากตรงนี้ทันที trueId in-trend นักเขียนบทความได้ค่าเขียนบทความละ 100 บาท ถ้าบทความนั้นผ่านการอนุมัติ นักเขียนมีรายได้ทันทีตั้งแต่บทความแรก

นอกจากนั้น ถ้ามีฝีมือดี อาจจะไปสมัครงานในเว็บไซต์รีวิวอาหาร เช่น wongnai, foody, บริษัทที่เกี่ยวข้องกับอาหารและเครื่องดื่ม และที่อื่น ๆ

Food blogger ทุกคนเป็นได้ ถ้าคุณมีคุณสมบัติดังนี้ ชอบทำอาหารกินเอง หรือชอบทำอาหารให้คนอื่นกิน หรือชอบกินชอบชิมอาหาร และคุณชอบเขียนเล่าเรื่องด้วย คุณเป็น food blogger ได้แน่นอน มีพื้นที่เปิดโอกาสให้คุณแสดงฝีมือ และมีรายได้จากสิ่งที่คุณรักด้วย

ภาพประกอบจาก pexels.com

Leave a comment